ถุงย่อยสลาย ต่างกับถุงชีวภาพอย่างไร ?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างแพร่หลายทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ
มารู้จักกับพลาสติกกันสักนิด
พลาสติกกำเนิดขึ้นมาเมื่อเกือบ ๘๐ ปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันในหลายรูปแบบ ก็เมื่อเกือบ ๔๐ นี้ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะ “ถุงพลาสติกหูหิ้ว” ซึ่งมีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากที่สุดนะคะ“ถุงพลาสติกหูหิ้ว” ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกที่เข้ามาทดแทนถุงกระดาษซึ่งใช้งานกันแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น โดยมีภาพลักษณ์ว่าช่วยลดการตัดต้นไม้เพื่อนำมาใช้ทำถุงกระดาษ อีกทั้งในกระบวนการผลิตก็ยังใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตถุงกระดาษถึงร้อยละ ๔๐ และยังสร้างขยะน้อยกว่า มีมลพิษทางอากาศน้อยกว่า...ที่สำคัญคือไม่มีน้ำเสียหรือการปล่อยมลพิษลงน้ำ...
ในยุคนั้น “ถุงพลาสติก” กลายเป็นฮีโร่ของคนทั่วโลก โรงงานผลิตถุงพลาสติกในเมืองไทยเกิดขึ้นมากมาย แต่ละรายมีอัตราการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด ชื่นมื่นกันถ้วนหน้า (ขณะที่ผู้ผลิตถุงกระดาษต้องปรับตัวหนีตายเมื่อเข้าสู่ยุค“ขาลง")
หลายสิบปีให้หลัง “ถุงพลาสติก” กลับกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในกระแส “รักษ์โลก”กลาย เป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม จนผลักดันให้เกิดการรณรงค์ ให้เลิกหรือลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก โดยหันมาใช้ถุงผ้าแทน หรือใช้วัสดุธรรมชาติมาบรรจุสินค้า เช่น ใช้ใบตองห่ออาหาร ก็เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทุกคนใส่ใจและอยากช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ข้อจำกัดการใช้งานของวัสดุอื่น ก็ยังมีอุปสรรคหลายประการ...การรณรงค์จึงเริ่มแผ่วลงในปัจจุบัน
ทำให้ "ถุงพลาสติก" ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด...แต่ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระแสโลก
ขณะที่ที่ผู้บริโภคเองก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว...เคดีที จึงขออธิบายเรื่องถุงพลาสติกย่อยสลาย และถุงพลาสติกชีวภาพ ที่เป็นไปตามกระแสรักษ์โลกคร่าวๆ ดังนี้
“ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์” (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Photodegradation) ความจริงเป็นถุงพลาสติกประเภทโพลีเอธิลีนทั่วไป แต่มีการเติมสารที่มีองค์ประกอบบางอย่างลงไป ซึ่งสารดังกล่าว เมื่อทำปฏิกิริยากับแสงยูวีจะทำให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่าเป็นการ “แตกสลาย” มิใช่ย่อยสลาย ตามคุณสมบัติของถุงย่อยสลายง่ายนี้ จะย่อยสลายก็ต่อเมื่อมีแสงแดดส่องถึง และอยู่ภายใต้อุณหภูมิความชื้นที่พอเหมาะ จึงจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ย่อยสลายได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถุงเหล่านี้กลับไม่ได้ย่อยสลายง่ายอย่างที่เข้าใจ เพราะถ้าเราทิ้งปะปนไปกับขยะอื่น รถเก็บขยะทำไปเทกองรวมกัน ก็จะเกิดการทับถม ไม่โดนแสงแดด จึงไม่เกิดการแตกสลายของพันธะทางเคมี ยังผลให้ถุงเหล่านี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป
หรือ “ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยธรรมชาติ” (ความร้อน น้ำ และแบคทีเรีย) ในความเป็นจริงถุงพลาสติกชนิดนี้ เรียกกันว่า Oxo-degradation ซึ่งก็มิได้ถูกย่อยสลาย แต่มันถูกทำให้ “แตกสลาย” โดยมีความร้อน น้ำ และแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งจะใช้เวลาในการทำให้แตกสลายประมาณ ๑-๒ ปี แต่ถ้าทิ้งและกำจัดไม่ถูกวิธี ปล่อยให้เกิดการทับถมก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับถุงพลาสติกที่ย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์
และแล้ว “พระเอก” ก็มา...เราเรียกเค้าว่า “ถุงพลาสติกชีวภาพ” (Bio- based plastics) ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงพลาสติกเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในการผลิตถุงพลาสติกแบบรักษ์โลก และยังย่อยสลายตัวเองได้อีกด้วย เนื่องจากถุงพลาสติกชีวภาพ เป็น พลาสติกย่อยสลายชนิดหนึ่งที่มีกลไกการย่อยสลาย ด้วยเอนไซม์ และแบคทีเรียในธรรมชาติ ซึ่งเมื่อย่อยสลายหมดแล้ว จะได้ผลิตภัณฑ์เป็น น้ำ มวลชีวภาพ ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโต และดำรงชีวิตของพืช จนไม่ก่อผลเสียตามมาหลังการใช้งาน เหมือนพลาสติกทั่วๆ ไป
จึงคาดว่า ถุงพลาสติกชีวภาพ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระยะเวลาอันใกล้ แม้ปัจจุบันการผลิตยังมีต้นทุนสูงกว่าถุงพลาสติกธรรมดา ๓-๔ เท่า ทำให้ยังไม่เป็นที่นิยม แต่เชื่อว่าอีกไม่นานต้องมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตให้มีต้นทุนต่ำลง จนเกิดการใช้กันอย่างแพร่หลาย
พอจะเข้าใจเรื่องถุงพลาสติกย่อยสลาย กับถุงพลาสติกชีวภาพกันแล้วใช่ไหมคะ
ด้วยความปรารถนาดีค่ะ