ReadyPlanet.com


ข่าว...พลาสติกชีวภาพ คลื่นลูกใหม่แห่งการลงทุน


 

เปิดเกมรุกยุคชีวเศรษฐกิจ...กับเทคโนโลยีชีวภาพ

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center  

ตีพิมพ์ในหนังสือการเงินธนาคาร / คอลัมน์ Blooming Business เดือนมีนาคม 2557

 

 

 

แม้สภาพเศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงกดดันจากการเมืองในระยะสั้น แต่โอกาสการเติบโตของประเทศในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ยังคงดูสดใส โดยมีปัจจัยผลักดันด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เติบโตรวดเร็ว การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และเทรนด์การรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ อีไอซี มองว่ามี 5 ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เราจะขอกล่าวถึงแต่ละธุรกิจผ่านบทความชุด

"Blooming Business" ซึ่งจะนำเสนอติดต่อกันทั้งหมด 5 ตอน โดยตอนแรกนี้จะพูดถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ

 

เปิดเกมรุกยุคชีวเศรษฐกิจ...กับเทคโนโลยีชีวภาพ

อีกไม่ถึงสิบปี โลกจะก้าวไปสู่ยุค "ชีวเศรษฐกิจ" (bioeconomy) อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทุกวันนี้ทั่วโลกรวมถึงไทยเองต่างเร่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเพื่อแข่งขันเป็นผู้นำตลาดและลดต้นทุนเศรษฐกิจในระยะยาว  ด้วยโอกาสการเติบโตในอนาคตของเซกเมนต์นี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากขยะชีวภาพ (ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และ ขยะ) และธุรกิจผลิตพลาสติกชีวภาพ (bio-plastics) จึงเป็นสองธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างรวดเร็วและน่าสนใจ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากขยะชีวภาพนั้นได้ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ไปหลายโครงการแล้วแต่ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูงต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจผลิตพลาสติกชีวภาพเป็นธุรกิจคลื่นลูกใหม่ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ร้อนแรงทั่วโลกที่มองข้ามไม่ได้

การผลิตไฟฟ้าจากขยะชีวภาพมีอนาคตสดใส

นอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อนและได้รับการพิสูจน์มาแล้วในประเทศ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังได้ปรับเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะชีวภาพอีกกว่า 4,410 เมกะวัตต์ เป็นทั้งหมด 8,880 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าวที่เริ่มจ่ายไฟแล้วเพียงประมาณ 1,000 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเม็ดเงินสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในรูปแบบของเงินทุนตั้งต้น และอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าที่เรียกว่า "Feed-in Tariff" ตลอดระยะเวลาสัญญานาน 25 ปี ทำให้เป็นธุรกิจที่มีรายได้มั่นคงและแน่นอน โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอย่างต่ำถึง 12% ต่อปี อีกทั้งยังสามารถลงมือจัดซื้อเทคโนโลยีได้ทันทีเนื่องจากเทคโนโลยีมีความอิ่มตัวในด้านประสิทธิภาพและราคา

ปัจจัยสู่ความสำเร็จคือการควบคุมต้นทุน

ด้วยรายได้ที่คงและแน่นอน บริษัทที่สามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าย่อมได้รับผลตอบแทนจริงที่สูงกว่าบริษัทอื่น  การควบคุมต้นทุนทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนก่อสร้างจึงถือเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ โดยผู้ประกอบการควรพิจารณาทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงทางชีวภาพ (feedstock) ระยะยาวเพื่อลดการผันผวนของต้นทุนเชื้อเพลิง หรือการผสมผสาน feedstock จากพืชฤดูกาลและพืชโตทั้งปีเพื่อให้มีเชื้อเพลิงเพียงพอในราคาเหมาะสม รวมไปถึงการร่วมทุนกับผู้รับเหมาก่อสร้างโดยให้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการด้วย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการล่าช้าในการพัฒนาโครงการได้ด้วยเช่นกัน และเป็นวิธีที่ช่วยจำกัดไม่ให้ต้นทุนการก่อสร้างบานปลายได้ (cost over-run)

บริษัทเกษตร โรงงาน ห้างร้านที่มี feedstock อยู่แล้วจะได้เปรียบ

ดังนั้น ธุรกิจที่มี feedstock เป็นผลพลอยได้อยู่แล้วจะลดความกังวลด้านต้นทุนไปได้มาก ทั้งธุรกิจในภาคการเกษตร เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ภาคอุตสาหกรรมจากน้ำเสียโรงงาน และภาคธุรกิจ เช่นห้างสรรพสินค้าที่มีขยะมูลฝอยจำนวนมาก  สามารถนำของเสียมาผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยยึดหลัก "zero-waste" ในการดำเนินการได้ และเป็นการเสริมรายได้ให้มั่นคงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้หลักของบริษัทที่อาจมีขึ้น-ลงตามสภาพเศรษฐกิจและวัฏจักรของธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจเลือกผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลักและขายให้รัฐในส่วนเกินก็ย่อมทำได้ ตัวอย่างเช่น โรงงานแป้งมันสำปะหลังโรงหนึ่งในไทยนำเปลือกมันไปหมักกับน้ำล้างหัวมันเพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตไฟฟ้า และยังนำน้ำเสียจากการผลิตไฟฟ้าไปบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ล้างเครื่องจักรหรือพื้นโรงงาน ส่วนเปลือกที่ผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้าแล้วนำไปหมักทำปุ๋ยและแจกจ่ายให้เกษตรกรในไร่มันสำปะหลังใช้ประโยชน์ต่อไป ทำให้เกิด zero-waste ในระบบ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 80% จากเดิมที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า และลดค่าน้ำได้มากถึง 60%

 

ต้องไม่ลืมทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อลดการต่อต้าน

ผู้ที่สนใจธุรกิจนี้ทั้งในรูปแบบการขายไฟฟ้าเข้าระบบและรูปแบบการผลิตไว้ใช้เองนั้น ส่วนใหญ่แล้วยังคงต้องให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับชุมชนในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (กลิ่น เสียง ฝุ่นละออง และก๊าซพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์) ถึงแม้ว่าผลกระทบจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5% ของผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน แต่ก็ยังถือเป็นข้อด้อยจุดหนึ่งของโรงไฟฟ้าประเภทนี้เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลม จึงมีแรงต่อต้านจากชุมชนใกล้เคียงอยู่บ้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจัดให้หัวหน้าชุมชนได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการเพื่อรับฟังแนวทางการรับมือต่อมลพิษสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และชี้แจงถึงคุณประโยชน์ของการมีโรงไฟฟ้าในชุมชน รวมไปถึงการยื่นมือเข้าช่วยเหลือพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ และสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการจ้างงานคนในท้องถิ่นเข้าทำงานในโรงไฟฟ้า เป็นต้น


มีแหล่งเงินทุนหลากหลายมากขึ้นแล้ว

เนื่องจากยังถือเป็นธุรกิจใหม่และมักเป็นโครงการขนาดเล็ก การหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการอาจต้องมองให้รอบด้านมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้นที่นอกเหนือจากการกู้เงินจากธนาคาร เช่น ธุรกิจเงินร่วมทุน (venture capital) กองทุน private equity หรือกลุ่มนักลงทุนอิสระที่เรียกว่า business angel เป็นต้น ซึ่งต่างมีระดับของเงินลงทุนในแต่ละโครงการ ความต้องการด้านผลตอบแทน และระดับการมีส่วนร่วมในการบริหารที่แตกต่างกันออกไป  อย่างไรก็ดี การกู้เงินจากธนาคารอาจยังเป็นตัวเลือกที่แน่นอนกว่าในระยะสั้น โดยปัจจัยที่ธนาคารให้ความสำคัญมาก คือ การปิดความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (feedstock) เช่น การวางแผนด้านคลังสินค้า และการกำหนดให้ชัดเจนว่าสัดส่วนของปริมาณขยะชีวภาพที่มีอยู่แล้วและที่ต้องทำสัญญาซื้อเพิ่มเป็นอย่างไร รวมไปถึงการเลือกผู้ผลิตเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือเพื่อให้ธนาคารมั่นใจได้ว่าโครงการจะประสบความสำเร็จ


พลาสติกชีวภาพ ...คลื่นลูกใหม่แห่งการลงทุน

พลาสติกชีวภาพ1 เป็นธุรกิจคลื่นลูกใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดพลาสติกโลก เนื่องด้วยคุณสมบัติการผลิตที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติซึ่งมีส่วนช่วยลดการพึ่งพาน้ำมัน หรือคุณสมบัติด้านการย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ  ดังกรณีของประเทศกลุ่มยุโรปที่เผชิญกับปัญหาการกำจัดขยะพลาสติกที่นับวันจะทวีความรุนแรง จนกระทั่งทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและหันมาให้ความร่วมมือในการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น เช่น การกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มสัดส่วนชิ้นส่วนพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในการประกอบรถยนต์ให้มากขึ้น รวมถึงแถบเอเชียเช่น ญี่ปุ่น ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่าง โซนี่ พานาโซนิค และโตชิบา ต่างเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกชีวภาพ และยังใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ก็พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหากสินค้ามีคุณภาพใกล้เคียงกัน แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นก็ตาม


กำลังการผลิตมีแนวโน้มการเติบโตสูง

กำลังการผลิตในตลาดโลกมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเป็น 40% ต่อปีในระยะต่อไป จากเดิมที่เคยเติบโตได้ราว 20-30% ต่อปี ปัจจุบันความต้องการเม็ดพลาสติกชีวภาพของโลกอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัน คิดเป็น 0.5% ของตลาดเม็ดพลาสติกทั้งหมด และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2016 ทำให้ไทยมีโอกาสที่สดใสในธุรกิจนี้ หากรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญโดยออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ ควบคู่กับการตอบรับจากภาคเอกชนที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจนี้ให้เป็นศูนย์กลางในการผลิตของอาเซียน 


อาจทดแทนเม็ดพลาสติกทั่วไปในการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์

เม็ดพลาสติกชีวภาพในปัจจุบันถูกนำไปใช้ผลิตสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์มากถึงเกือบ 80% โดยเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดถุงหูหิ้ว 40% ขวดบรรจุเครื่องดื่ม 33% และบรรจุภัณฑ์อาหาร 7% ตัวแปรสำคัญมาจากคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ที่เหมาะสำหรับการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้นและไม่ต้องการคุณสมบัติพิเศษ โดย Nova Institute คาดการณ์ว่า ขวดบรรจุเครื่องดื่ม Bio-PET ซึ่งเป็นขวดพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หรือสูงขึ้นกว่า 10 เท่าจากปัจจุบัน ไปเป็น 5 ล้านตันภายในปี 2020  จนสามารถเข้ามาแทนที่การใช้ขวด PET (พลาสติกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ผลิตขวดน้ำ) จากปิโตรเคมีทั้งหมดในอนาคต ขณะเดียวกัน PLA ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพชนิดที่นิยมนำมาใช้ผลิตถุงพลาสติกก็จะเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารมากขึ้น


แม้ต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพยังค่อนข้างสูง แต่ผู้ผลิตได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพมีต้นทุนสูงกว่าเม็ดพลาสติกแบบทั่วไปประมาณ 1.6 - 3 เท่า แตกต่างกันไปตามชนิดของเม็ดพลาสติก โดยวัตถุดิบของเม็ดพลาสติกชีวภาพในยุคนี้ จะทำจากพืชที่ให้แป้งหรือน้ำตาล อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตก็ยังพยายามสรรหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาใช้ โดยเฉพาะวัตถุดิบเหลือทิ้งอย่างฟางข้าว เปลือกข้าว และเปลือกไม้ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพให้สามารถแข่งขันกับพลาสติกแบบทั่วไปได้

ไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำอาเซียนในธุรกิจนี้แบบครบวงจร

แม้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ อีไอซี มองว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำทางธุรกิจนี้แบบครบวงจรในอนาคต ตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายพลาสติกชีวภาพในอาเซียน โดยศักยภาพดังกล่าวมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

1)  ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทางการเกษตร ถือเป็นหัวใจสำคัญเพราะใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง โดยไทยสามารถผลิตอ้อยและมันสำปะหลังได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศ โดยการบริโภคในประเทศคิดเป็นเพียง 25-30% ของการผลิตทั้งหมด ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 และส่งออกน้ำตาลจากอ้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก

2)  ความพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรม  ไทยมีอุตสาหกรรมพลาสติกที่ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติก การแปรรูปเม็ดพลาสติก ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่รองรับการผลิตในประเทศ

3)  ความสามารถด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคล ไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพสามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการสร้างเทคโนโลยีใหม่ของตนเองได้ โดยปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการแปรรูปในอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพกว่า 3,000 ราย

ส่งผลดีต่อทั้งภาคเกษตร และห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกไทยโดยรวม

ในระยะเริ่มต้นของธุรกิจพลาสติกชีวภาพ จะเป็นจังหวะโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมากเพื่อลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นโอกาสของภาคการเกษตรไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการส่งออกมันสำปะหลังและอ้อยในรูปของวัตถุดิบ หรือการแปรสภาพสินค้าการเกษตรเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าเพิ่มสินค้าการเกษตรอยู่ในระดับที่ต่ำ หากเรานำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพก็จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของสินค้าการเกษตรเหล่านี้เพิ่มขึ้น เช่น การใช้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งจากมันสำปะหลังในสัดส่วนราว 2:1 มาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ จะส่งผลให้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่า

 
ช่วยขยายโอกาสในธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติกให้ SME ไทย

ในระยะยาว อีไอซี คาดว่า SME ไทยจะได้รับอานิสงส์ในธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้าจำพวกบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีโอกาสสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมวัสดุการแพทย์ ที่เริ่มนำพลาสติกชีวภาพมาผลิตเป็นรากฟันเทียม อุตสาหกรรมการเกษตรที่ผลิตถุงปุ๋ย เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะช่วยให้ไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศลง ลดภาระต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ  

ด้วยทิศทางการเติบโตในอนาคตที่สดใสของทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากขยะชีวภาพ และธุรกิจผลิตพลาสติกชีวภาพ (bio-plastics) ทำให้ผู้ประกอบการไทยควรจับตาดูความเคลื่อนไหวของธุรกิจเหล่านี้ควบคู่กับการแสวงหาลู่ทางการลงทุน เพื่อให้สามารถรุกตลาดได้ก่อนใคร รวมทั้งควรวางแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่อาจเผชิญได้ในอนาคต


1 พลาสติกชีวภาพ (Bio plastic) คือพลาสติกที่สังเคราะห์จากแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติ (Bio based) และสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) หรือพลาสติกที่มีคุณสมบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจากทั้งสองอย่างข้างต้น

 

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ADMIN :: วันที่ลงประกาศ 2014-04-01 03:49:12


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.